Articles
RESILIENT SUPPLY CHAIN
24/02/2021คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ในอดีตการบริหารจัดการด้านห่วงโซ่อุปทานเป็นไปตามแนวคิดโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการและการลดต้นทุนการผลิต ภายใต้แนวคิดดังกล่าวบริษัทข้ามชาติจำนวนมากจึงกระจายกระบวนการผลิตไปยังประเทศที่มีความพร้อมและความได้เปรียบทางด้านต้นทุนการผลิตในแต่ละด้าน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วประกอบกับวิกฤตการณ์ต่างๆ ในปีที่ผ่านมาก็ส่งผลให้ ผู้ประกอบการทั่วโลกต้องกลับมาพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานเพื่อหาสมดุลระหว่างประสิทธิภาพกับความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานอีกครั้ง
การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการประกอบธุรกิจในประเทศจีน สงครามการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯและจีนที่มีแนวโน้มจะดำเนินต่อไปแม้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่แล้วก็ตาม รวมถึงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและบริการทั่วโลกก็ทำให้ ผู้ประกอบการต่างให้ความสนใจกับแนวคิด Resilient Supply Chain ที่เน้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของห่วงโซ่อุปทานให้มีความทนทานและสามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดได้อย่างรวดเร็ว และกลายมาเป็นหนึ่งใน Catalyst สำคัญที่ทำให้บริษัทข้ามชาติหลายรายวางแผนลดการพึ่งพาและกระจายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนไปยังประเทศปลายทางที่ใกล้กับแหล่งผลิต/ ตลาดผู้บริโภค หรือกลับมาอยู่ภายในภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งจากการสำรวจบริษัทข้ามชาติที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศจีนกว่า 260 บริษัทของ Gartner พบว่า ร้อยละ 33 ของบริษัทเหล่านี้มีแผนจะย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนภายในปี 2023 เลยทีเดียว
ทั้งนี้ผู้เขียนเห็นว่าการโยกย้ายดังกล่าวจะส่งผลเชิงบวกต่อกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่มีความได้เปรียบทางด้านยุทธศาสตร์ที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางของภูมิภาค การย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดระยะทางของแหล่งผลิตให้ใกล้กับตลาด อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการขนส่งในการกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภคได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น บริษัท Fujitsu ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศชั้นนำที่ได้ย้ายการผลิตส่วนหนึ่งจากประเทศจีนมายังประเทศไทยเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน หรือ บริษัท Panasonic ผู้ผลิตเครื่องเสียงสำหรับรถยนต์ซึ่งมีฐานการผลิตหลักในประเทศจีนก็ได้ย้ายฐานการผลิตบางส่วนมายังประเทศไทยเพื่อลดผลกระทบของสงครามการค้า เป็นต้น
ซึ่งภาครัฐของไทยก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและพยายามดึงดูดบริษัทข้ามชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องผ่านทางโครงการต่างๆ อาทิ โครงการ EEC ที่ BOI เองก็มีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี มาตรการ Smart Visa หรือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมทั้งทางบก น้ำ และอากาศให้เป็นโครงข่ายที่เชื่อมโยงกับทั้งภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตเพื่อเป็นแรงงานสำคัญที่จะช่วยรองรับการย้าย/ ขยายฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติเข้ามาในประเทศไทยอีกด้วย
ในขณะที่แนวคิด Resilient Supply Chain ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มีแนวโน้มสั้นลง กระจายตัว และมีความเชื่อมโยงกันภายในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น ช่วงเวลานี้ประเทศไทยจึงควรคว้าโอกาสการเป็นที่ตั้งของห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่น โครงการ EEC ซึ่งมุ่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและโครงการเมกะโปรเจคต่างๆ จึงเป็นโครงการที่ควรได้รับการผลักดันอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อทำให้พื้นที่ EEC กลายเป็นศูนย์กลางของฐานการผลิตใหม่สำหรับบริษัทข้ามชาติที่ต้องการย้ายฐานการผลิตและกระจายความเสี่ยงมายังภูมิภาคนี้ได้นั่นเอง