Articles

THE PATH TO NET ZERO

20/01/2025

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

เป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วงที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านจากแหล่งพลังงานแบบดั้งเดิมสู่พลังงานทดแทน (Renewable Energy) ซึ่งด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนโยบายการขับเคลื่อนอย่างจริงจังจากหน่วยงานทั่วโลก ส่งผลให้การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) มีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว อ้างอิงจากรายงานดัชนี Energy Transition Index (ETI) ปี 2024 ของ World Economic Forum (WEF) ที่ชี้ให้เห็นว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (2015-2024) ดัชนีการเปลี่ยนผ่านพลังงานมีคะแนนเฉลี่ยทั่วโลกสูงสุดเป็นประวัติการณ์

แม้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังมุ่งมั่นผลักดันการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาด้านเทคโนโลยีเองก็มีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงานหมุนเวียน รถยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ แต่เทคโนโลยีสำคัญอื่น ๆ ที่มีความสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรมยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาและยังไม่สามารถนำมาใช้อย่างแพร่หลายในวงกว้างเนื่องจากข้อจำกัดด้านต้นทุน นอกจากนี้ ปัจจัยด้านความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ยังคงสร้างความตึงเครียดและส่งผลต่อความมั่นคงทางด้านพลังงานและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน อีกทั้งยังนำไปสู่การดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าที่มากขึ้นในหลายประเทศ ประกอบกับปัจจัยเสริมต่าง ๆ อย่างเช่น อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงและความผันผวนของราคาสินค้า ยังเข้ามามีส่วนในการเพิ่มแรงกดดันต่ออุตสาหกรรม ส่งผลให้หลายองค์กรต้องมุ่งเน้นไปที่การรักษาความสามารถในการทำกำไรซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในระยะยาว

ความท้าทายในมิติด้านกายภาพ เทคโนโลยี เศรษฐกิจ และการเมือง เหล่านี้จึงส่งผลให้การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ยังคงมีข้อจำกัด โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยมลพิษได้ยาก (Hard-to-abate Sectors) ซึ่งมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมกันถึง 40% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก โดยอุตสาหกรรมเหล่านี้ครอบคลุมทั้งภาคการผลิต (เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก ซีเมนต์ อะลูมิเนียม และเคมีภัณฑ์ขั้นต้น) ภาคพลังงาน (น้ำมันและก๊าซ) และภาคการขนส่ง (การบิน การขนส่งทางเรือ และการขนส่งทางถนน) ซึ่งล้วนเป็นภาคส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจที่มีสัดส่วนถึง 30% ของ Global GDP แม้รายงาน Net-Zero Industry Tracker 2024 ของ WEF จะระบุว่า การปล่อยมลพิษในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้จะลดลง 0.9% ระหว่างปี 2022-2023 แต่การปล่อยมลพิษทั่วโลกกลับเพิ่มขึ้น 1.3% และหากจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มถึง 30 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2050 ซึ่งถือเป็นความท้าทายสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรม

ด้วยเหตุนี้ การผลักดันการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานให้สำเร็จตามเป้าหมายจึงควรเริ่มต้นจากการปลดล็อคความท้าทายที่ต้องเผชิญ โดยจำเป็นต้องดำเนินการอย่างครอบคลุมในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสำคัญ เช่น เชื้อเพลิงไฮโดรเจน การดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) รวมถึงการผลิตวัสดุใหม่ ๆ ให้เกิดความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนาซึ่งมีแนวโน้มถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในอนาคต ตลอดจนการกำหนดนโยบายสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจเพื่อส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในทศวรรษนี้ ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของการเตรียมความพร้อมเพื่อเป้าหมายระยะยาว โดยความสำเร็จในการขับเคลื่อนจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้บริโภค ไปจนถึงผู้กำหนดนโยบาย เพื่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงและรากฐานที่มั่นคงต่อการบรรลุเป้าหมายท่ามกลางความผันผวนของตลาดและความท้าทายในอนาคต