Articles
CIRCULAR ECONOMY
04/12/2019คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมการผลิตและความต้องการบริโภคเนื่องจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วง 150 ปีที่ผ่านมาได้เปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนให้สะดวกสบายจนหลายครั้งพวกเราต่างหลงลืมไปว่าทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างจำกัด
เมื่อเวลาผ่านไปเริ่มเกิดวิกฤติธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นทำให้หลายฝ่ายเริ่มหันกลับมาตระหนักและให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างจริงจังซึ่งหนึ่งในความพยายามเยียวยาสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือ การดำเนินธุรกิจอย่างสร้างสรรค์ตามแนวคิดของ Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียนที่เริ่มได้รับความสนใจและถูกกล่าวถึงเป็นวงกว้าง เนื่องจากเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ความสำคัญกับคุณค่าของทรัพยากรที่สามารถหมุนเวียนอยู่ในกระบวนการผลิตและบริโภคผ่านการนำมาผลิตใหม่หรือนำมาใช้ซ้ำ (Make-Use-Recycle) ซึ่งแตกต่างจากวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมที่มีลักษณะเป็น Linear Economy หรือเศรษฐกิจเส้นตรง (Take-Make-Dispose) ที่ทำให้เกิดของเหลือจำนวนมหาศาล ณ ปลายทางในขณะที่ต้องดึงทรัพยากรธรรมชาติมาใช้เพื่อการผลิตอย่างไม่สิ้นสุด
Circular Economy จึงถือได้ว่าเป็นการสร้างนวัตกรรมบนห่วงโซ่คุณค่า (Innovative Value Chain) บนแนวคิดของระบบเศรษฐกิจแบบปิดที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยการรักษาคุณค่าของทรัพยากรต่างๆ ไว้ให้ได้นานที่สุด โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการออกแบบวัสดุผลิตภัณฑ์ให้ง่ายต่อการนำกลับมาใช้ใหม่ การเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจจากการขายมาเป็นการให้บริการ การนำขยะหรือของเสียมาผลิตเป็นพลังงาน ตลอดจนการค้นหารูปแบบการทำธุรกิจหรือ Business Model ให้สามารถทำกำไรบนวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืนโดยเฉพาะเมื่อได้คำนึงถึงต้นทุนภายนอก (Externalities) ซึ่งเป็นต้นทุนเชิงลบที่เป็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมไว้ด้วยแล้ว
ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกต่างก็พยายามขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนกันอย่างจริงจัง ตัวอย่างเช่นรัฐบาลของประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ได้มีการกำหนดนโยบายการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ทั้งหมดภายในปี 2050 ผ่านมาตรการสนับสนุนต่างๆ ทั้งด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม การเงิน และการตลาด หรือประเทศญี่ปุ่นที่ปลูกฝังวัฒนธรรมการแยกขยะตั้งแต่ระดับประถมศึกษาและบังคับใช้กฎหมายการจัดการขยะอย่างจริงจัง รวมถึงกำหนดเป้าหมายการใช้ขยะอิเล็กทรอนิกส์รีไซเคิลในการผลิตเหรียญรางวัลสำหรับโอลิมปิกฤดูร้อนหรือ Tokyo 2020 ทั้งหมดอีกด้วย
สำหรับประเทศไทยก็อยู่ในระหว่างช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้เช่นกันซึ่งโครงการ EEC ก็จะมีส่วนช่วยสนับสนุนผ่านวัตถุประสงค์หลักของโครงการที่มุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green : BCG Economy) ซึ่งเป็นโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติไปพร้อมๆ กัน
ซึ่งการก้าวไปสู่แนวทาง BCG Economy ดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งฝั่งผู้ประกอบการที่ต้องตระหนักรู้เพราะหากไม่ปรับตัวสินค้าและบริการก็อาจไม่ได้รับการยอมรับในระยะยาวและการสนับสนุนจากภาครัฐทั้งด้านข้อมูลเชิงลึก เช่น กระบวนการผลิต การออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมถึงมาตรการส่งเสริมทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงินเพื่อสร้างแรงจูงใจ รวมถึงการพิจารณาแก้ไขข้อกฎหมายที่ไม่เอื้ออำนวยต่อ BCG Economy ก็จะเป็นส่วนสำคัญต่อความสำเร็จของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจใหม่นี้เช่นเดียวกัน
แม้ว่าในช่วงแรกการผลักดันและขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอาจจะเริ่มโดยภาครัฐและองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก รวมถึงภาคสังคมและผู้บริโภคก็จำเป็นต้องตื่นตัวและเห็นถึงความสำคัญเช่นเดียวกันจึงจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่โอกาสใหม่ๆ ที่จะก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพโดยไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเกิดเป็นความยั่งยืนอย่างแท้จริงนั่นเอง