Articles

AFFLUENT TOURISM

25/12/2019

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ท่ามกลางสภาวะปัจจัยแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้หลายๆ อุตสาหกรรมต่างก็ต้องเร่งปรับตัว หนึ่งในนั้นคือ อุตสาหกรรมและบริการการท่องเที่ยวซึ่งการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นทำให้หลายประเทศต่างเฟ้นหากลยุทธ์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูง

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเรือสำราญเป็นอีกธุรกิจเฉพาะกลุ่ม (Niche Business) ที่กำลังได้รับความนิยมและเติบโตอย่างต่อเนื่องทั่วโลก โดยสมาคมเรือสำราญระหว่างประเทศ (CLIA) ที่มีสมาชิก 63 สายการเดินเรือ (คิดเป็นร้อยละ 95 ของผู้ประกอบการทั้งหมด) ได้เปิดเผยข้อมูลอุตสาหกรรมเรือสำราญว่า ในปี 2562 มียอดนักท่องเที่ยวเดินทางโดยเรือสำราญกว่า 30 ล้านคนและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 1.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดจนช่วยให้เกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมสูงถึง 1.2 ล้านคนเลยทีเดียว

นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าในอนาคตศูนย์กลางของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทางเรือจะย้ายฐานจากฝั่งยุโรปและสหรัฐอเมริกามายังฝั่งเอเชีย โดยมีเส้นทางการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม คือ สิงคโปร์ ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ เกาะเจจู-เกาหลีใต้ ปีนัง ภูเก็ต กัวลาลัมเปอร์ คีลัง-ไต้หวัน และโฮจิมินห์ เป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ทำให้หลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนต่างเร่งผลักดันยุทธศาสตร์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเรือสำราญ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ประเทศสิงคโปร์ที่ประสบความสำเร็จจนสามารถพัฒนาท่าเรือสำหรับจอดรับผู้โดยสารและเป็นปลายทางสิ้นสุดเส้นทางการเดินเรือ หรือ “โฮมพอร์ต” หลักของภูมิภาค

ในอดีตที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเรือสำราญของไทยประสบกับข้อจำกัดด้านความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวปริมาณมากโดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่อเนื่องทำให้อุตสาหกรรมเรือสำราญไทยยังไม่สามารถเติบโตได้ตามศักยภาพที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยภูมิประเทศที่อยู่ระหว่างอ่าวไทยทางฝั่งตะวันออกและทะเลอันดามันทางฝั่งตะวันตกทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นทั้งโฮมพอร์ต และ พอร์ต ออฟ คอล หรือท่าเรือแวะพักสำหรับเรือสำราญที่ล่องเข้ามายังน่านน้ำภายในภูมิภาค ตลอดจนประเทศไทยเองก็ได้กำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจากการท่องเที่ยวแบบเน้นปริมาณ (Mass Tourism) ไปเป็นการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism) ที่มุ่งดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพให้เข้ามาเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศซึ่งสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายของอุตสาหกรรมเรือสำราญที่เป็นนักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูง

ปัจจุบันรัฐบาลจึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเรือสำราญ พ.ศ. 2561 – 2570 เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวโดยเรือสำราญของอาเซียนโดยครอบคลุมทั้งด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ท่าเรือหลัก ได้แก่ ท่าเรือกรุงเทพฯและท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือเล็กรองรับจุดทอดสมอ ได้แก่ ท่าเรือเกาะสมุย และ ท่าเรือเชื่อมโยงตามเกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของพื้นที่ EEC ก็จะยิ่งทำให้ทะเลตะวันออกของไทยมีความครบครันในเรื่องของการเดินทางที่สะดวกสบายสามารถเชื่อมต่อกับแหล่งท่องเที่ยวภายในประเทศรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ในภูมิภาค CLMVT ได้เป็นอย่างดี ตลอดจนนโยบายการส่งเสริมคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวผ่านสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวต่างๆ อาทิ Spa & Wellness กิจกรรมกีฬาทางน้ำ การพัฒนาสินค้า OTOP และการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและชุมชมก็จะเป็นการช่วยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาใช้จ่ายและสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน

การส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเรือสำราญจึงเป็นการต่อยอดเพื่อเพิ่มโอกาสและความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติที่จะช่วยสร้างความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจไทยโดยอาศัยจุดแข็งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ประเทศไทยมีความโดดเด่นไม่แพ้ชาติใดในโลกอยู่แล้วนั่นเอง