Articles
THE SUFFICIENCY ECONOMY
29/07/2020คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
Sustainable Development Goals (SDGs) หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นหนึ่งในวาระสำคัญขององค์การสหประชาติที่ถูกต่อยอดมาจากเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) และประกอบไปด้วย 17 เป้าหมาย 169 เป้าประสงค์ 241 ตัวชี้วัด โดยประเทศสมาชิกทั้ง 194 ประเทศรวมถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2015 ระหว่างการประชุม COP21 ณ กรุงปารีสก็ได้ลงนามให้คำมั่นสัญญาว่าจะร่วมมือกันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ภายในปี 2030
ทั้งนี้แนวคิดของการพัฒนาอย่างยั่งยืนก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพยายามตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบันโดยไม่ลิดรอนสิทธิของคนรุ่นหลัง กรอบการพัฒนาตามแนวทางของ SDGs จึงมุ่งเน้นไปที่ (1) ความเท่าเทียมกัน (Equality) (2) การกำหนดเป้าหมายระยะยาว (Long-term Perspective) และ (3) การมีส่วนร่วม (Inclusiveness) และความเชื่อมโยง (Connectedness)
ซึ่งรายงาน SDGs Report ของมูลนิธิ Bertelsmann ร่วมกับ Sustainable Development Solutions Network ก็ได้มีการเปิดเผยผลการจัดอันดับความสามารถในการตอบสนองต่อ SDGs ของประเทศทั่วโลก โดยผลการจัดอันดับล่าสุดประจำปี 2019 นั้น ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 40 จากทั้งหมด 162 ประเทศ ซึ่งเป้าหมายที่ไทยทำได้ดีและมีแนวโน้มจะบรรลุตามเป้าประสงค์ระยะยาวประกอบด้วย (1) การขจัดความยากจน (6) การจัดการน้ำและสุขาภิบาล และ (8) การจ้างงานที่มีคุณค่า นอกจากนั้นรายงานยังได้เปิดเผยเป้าหมายที่ประเทศไทยมีความคืบหน้าในการดำเนินงานผลักดันค่อนข้างมาก ได้แก่ (3) การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (5) ความเท่าเทียมทางเพศ (7) พลังงานสะอาดและเข้าถึงได้ (9) อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน (11) การพัฒนาเมือง และ (16) ความสงบสุขและยุติธรรม ตามลำดับ
เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ UN ถือได้ว่ามีความสอดคล้องอย่างมากกับหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” อันเป็นศาสตร์พระราชาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานไว้ให้กับปวงชนชาวไทยซึ่งตั้งอยู่บนหลักคิดของการดำรงชีวิตและการบริหารจัดการบนพื้นฐานของทางสายกลาง ความไม่ประมาท การมุ่งประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน และการคำนึงถึงผลตอบแทนในระยะยาวมากกว่าระยะสั้น และส่งผลทำให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้รับการยกย่องว่าเป็นกรอบแนวคิดที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างสมดุลจนเกิดเป็นความยั่งยืนตลอดจนมีความทันสมัยแม้กาลเวลาจะผ่านมากว่า 40 ปีแล้วก็ตาม
ท่ามกลางสถานการณ์ความวุ่นวายและวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก การน้อมนำปรัชญาความพอเพียงมาปฏิบัติอย่างถูกต้องก็จะสร้างให้เกิดความสมดุลที่ครอบคลุมทุกมิติทั้ง “เศรษฐกิจ” “สังคม” “สิ่งแวดล้อม” และ “วัฒนธรรม” ที่ช่วยให้ประเทศและประชากรชาวไทยสามารถพึ่งพาตนเอง มีภูมิต้านทาน และสามารถปรับตัวเมื่อเผชิญกับความยากลำบากและความท้าทายต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งโครงการ EEC เองก็มุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามศาสตร์พระราชาภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงควบคู่ไปกับการตอบรับกระแสโลกของการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยการสนับสนุนอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตที่เน้นการเพิ่มคุณค่าของสินค้าและบริการผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อทดแทนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและปัจจัยการผลิตของอุตสาหกรรมดั้งเดิมไปพร้อมๆ กับการพัฒนาทักษะแรงงานและสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนผ่านโครงการความร่วมมือที่เกี่ยวข้อง
พระราชดำรัสเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” จึงเป็นสิ่งที่จะคอยย้ำเตือนให้พวกเราทุกคนปรับเปลี่ยนมุมมองและวิธีการทำงานออกจากกรอบความคิดแบบเดิมๆ เพื่อร่วมกันสร้างความสมดุลและความเท่าเทียมทั้งด้านทรัพยากรและองค์ความรู้ต่างๆ ที่จะกลายเป็นภูมิคุ้มกันให้ประเทศและชาวไทยสามารถก้าวข้ามช่วงเวลาของความไม่แน่นอนจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศนั่นเอง