Articles

SMART ENERGY

30/12/2020

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ในทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วอันเป็นผลมาจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ การพัฒนาดังกล่าวได้ส่งผลให้โลกมีความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้ต้นทุนด้านพลังงานกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศทั่วโลก

สำหรับประเทศไทย การขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานไฟฟ้า ซึ่งหากพิจารณาถึงปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าแยกตามประเภทผู้บริโภค ข้อมูลจากกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่าภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้บริโภคพลังงานไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศโดยมีการบริโภคมากถึง 61,106 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมงคิดเป็นร้อยละ 43 ของปริมาณไฟฟ้าทั้งหมดในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกันยายนปี 2563 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกันโดยเฉพาะประเทศที่มีบทบาทด้านการผลิตและลงทุนเชิงรุก ต้นทุนพลังงานและการให้บริการไฟฟ้าของไทยถือว่ายังอยู่ในระดับกลางโดยหากพิจารณาถึงค่าไฟฟ้าต่อหน่วยซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนถึงต้นทุนพลังงานโดยรวมของไทยที่ 3.8 บาท ในขณะที่ค่าไฟฟ้าต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมงของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนามอยู่ที่ 6.2, 6.0, 3.0 และ 2.6 บาท ตามลำดับ ปัจจุบันทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงมีความพยายามนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าอันจะนำไปสู่การลดต้นทุนและค่าไฟฟ้าในระยะยาว

จากการศึกษาตัวอย่างการพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าในต่างประเทศ ผู้เขียนพบโครงการ Brooklyn Microgrid ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้นำนวัตกรรม Blockchain มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดการซื้อขายพลังงานแสงอาทิตย์ระหว่างอาคารโดยไม่ต้องผ่านคนกลางจึงส่งผลให้เจ้าของอาคารสามารถซื้อขายพลังงานไฟฟ้าระหว่างกันได้โดยตรง โครงการ Local Energy Market ของบริษัท Centrica ในประเทศอังกฤษเป็นอีกหนึ่งโครงการที่เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรายย่อยสามารถขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ Grid หรือนำไฟส่วนเหลือไปเทรดในตลาดขายส่ง (Wholesale) ได้ นอกจากนี้ยังมีโครงการ Regional Electricity Market ของบริษัทสตาร์ทอัพ Lumenaza จากประเทศเยอรมนีที่ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม "utility-in-a-box" สำหรับการแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้า ตลอดจนระบบบริหารจัดการพลังงานด้านต่างๆ อาทิ ระบบติดตามการใช้ไฟฟ้า ระบบจัดสรรอุปสงค์และอุปทานของพลังงาน และระบบจัดเก็บค่าไฟฟ้า เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยเองก็พยายามสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านพลังงานผ่านทางโครงการต่างๆ เช่น โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) โดยบริษัท WHAUP ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม WHA Group ก็ได้ร่วมมือกับ PEA และพันธมิตรด้านเทคโนโลยีเพื่อเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดังกล่าว เพื่อพัฒนานวัตกรรมพลังงาน อาทิ การซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน (Peer-to-Peer Energy Trading) ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Microgrid) ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของ WHA Group ซึ่งกลุ่มบริษัทก็ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสามารถซื้อขายพลังงานไฟฟ้าระหว่างกันได้อย่างเสรีอีกด้วย

พลังงานถือเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และแม้ว่าปัจจุบันภาครัฐจะสนับสนุนให้มีการลงทุนในนวัตกรรม เทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง แต่การพัฒนาดังกล่าวยังคงต้องอาศัยการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ รวมถึงการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนร่วมด้วย หากได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังประเทศไทยก็จะสามารถยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่จะช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวนั่นเอง