Articles
US-CHINA DECOUPLING (1)
07/04/2021คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ทุกวันนี้เราต่างปฏิเสธไม่ได้ว่า Global Event สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนของศตวรรษ 21 ย่อมหนีไม่พ้นสถานการณ์การแข่งขัน/ การแยกตัว (Decoupling) ระหว่างประเทศมหาอำนาจสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งผู้เขียนเองก็มักสื่อสารเมื่อมีโอกาสเสมอว่า สงครามการค้าเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นรวมถึงการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีนครั้งนี้จะยืดเยื้อยาวนาน เนื่องจากมีประเด็นเรื่องการครอบครองเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและนำไปสู่อำนาจการจัดระเบียบโลกใหม่ร่วมอยู่ด้วย
เมื่อพูดถึง Global Superpower เราคงต้องเริ่มต้นด้วยการย้อนอดีตไปในศตวรรษที่ 19 ที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรก (ค.ศ 1760-1840) ทำให้เทคโนโลยีการเดินเรือและการผลิตยุทโธปกรณ์ก้าวหน้าจนส่งผลให้จักรวรรดิอังกฤษและประเทศในกลุ่มยุโรปกลายเป็นมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจและเจ้าลัทธิจักรวรรดินิยม แต่เมื่อโลกเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 สงครามโลกก็ทำให้ความเป็นมหาอำนาจถูกเปลี่ยนมือ สหรัฐฯ กลายเป็นประเทศผู้ตัดสินผลแพ้ชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงเป็นผู้นำการเผชิญหน้าทางอุดมการณ์ในช่วงภาวะสงครามเย็น (Cold War) ด้วยแนวคิดการปกครองระบอบประชาธิปไตยและการค้าเสรีตามหลักการโลกาภิวัตน์ นอกเหนือไปจากการทุ่มเทงบประมาณเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีทางการทหารให้ก้าวหน้าแล้ว สหรัฐฯ ยังขยับบทบาทของตนในฐานะประเทศมหาอำนาจผ่านองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ อาทิ WTO, IMF, UN, NATO ฯลฯ รวมถึงวางสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กลายเป็น Reserve Currency และสกุลเงินสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนของทั่วโลกที่ช่วยให้สหรัฐฯ สามารถควบคุมระบบ/ ตลาดการเงินนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาอีกด้วย
ช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 เศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีอัตราการขยายตัวในระดับที่สูงมาโดยตลอด เนื่องด้วยการเป็นประเทศใหม่ที่เกิดจากการย้ายถิ่นฐานของผู้คนจึงทำให้มีการบุกเบิกการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม การลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงความต้องการสินค้าเพื่อการบริโภคจำนวนมาก ขณะที่ประเทศจีนภายหลังจากผ่านช่วงเวลาของนโยบาย The Great Leap Forward และ The Cultural Revolution ระหว่างปี 1958 – 1976 จนกระทั่ง ค.ศ. 1978 ภายใต้การนำของท่าน Deng Xiaoping ประเทศจีนก็กำหนดให้มีนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจโดยการเปิดประเทศ และทำให้จีนเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานโลกในฐานะ Global Manufacturing Powerhouse จากการเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกเนื่องด้วยความได้เปรียบจากต้นทุนแรงงานราคาถูกโดยมีคู่ค้าสำคัญคือ สหรัฐฯ ที่ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 อาศัยการนำเข้าและการบริโภคภายในประเทศเป็นปัจจัยหลักเพื่อผลักดันเศรษฐกิจของตนให้สามารถเติบโตอย่างต่อเนื่อง และภายหลังจากที่จีนเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ WTO ในปี ค.ศ. 2001 มูลค่าการส่งออกของจีนก็ยิ่งทะยานเพิ่มสูงขึ้นขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ต้องประสบปัญหาการขาดดุลการค้าเรื่อยมา
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อโลกหมุนเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 พลังของ Exponential Technology ทำให้เกิด disruption เป็นวงกว้างและส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของทั่วโลก ประเทศจีนก็เล็งเห็นถึงโอกาสที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จึงกำหนดยุทธศาสตร์การเร่งยกระดับความสามารถทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศตน ตลอดจนนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและสังคมจนทำให้ทั่วโลกรวมถึงมหาอำนาจเก่าอย่างสหรัฐฯ ต้องหันกลับมาพิจารณาบทบาทของจีนใหม่อีกครั้ง
สำหรับอาทิตย์นี้เราก็ได้มาพูดคุยถึงประวัติศาสตร์และเบื้องหลังที่นำมาสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจทั้งสองไปแล้ว อาทิตย์ต่อๆ ไปผู้เขียนก็จะมาชวนคุยต่อถึงผลกระทบ แนวโน้มเหตุการณ์ รวมถึงโอกาสของประเทศไทยที่จะมาพร้อมกับสถานการณ์ในครั้งนี้กันต่อค่ะ