Articles

The Rise of Media & Entertainment

22/06/2022

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีนั้นมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของหลายอุตสาหกรรม ซึ่ง หนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence), ความเป็นจริงเสมือน (Digital Reality) และ 5G เป็นต้น มาผสมผสานเพื่อพัฒนายกระดับการให้บริการแก่ผู้บริโภค คงหนีไม่พ้นอุตสาหกรรมสื่อและความบันเทิง (Media and Entertainment) นั่นเอง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ก็เปรียบเสมือนสิ่งกระตุ้นให้ผู้คนทั่วโลกมีการบริโภค Digital Content ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจการบริโภคสื่อออนไลน์ของ Double Verify บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อวิเคราะห์การวัดผลสื่อดิจิทัลสัญชาติอเมริกัน ที่ได้ทำการสำรวจผู้บริโภคใน 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศอังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, สเปน รวมถึงสหรัฐอเมริกา และพบว่า ในปี 2020 ผู้บริโภคมีการใช้เวลากับสื่อออนไลน์เฉลี่ยต่อวันเท่ากับ 6 ชั่วโมง 59 นาที หรือเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจากปีก่อนหน้าเลยทีเดียว

จากความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมสื่อและความบันเทิงจึงต่างต้องเร่งพัฒนาสินค้าและการให้บริการรูปแบบใหม่ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่ม Millennials และ Gen Z ที่เป็นผู้ชมหลักสำคัญและมีอัตราการเลิกใช้บริการ หรือ Churn rate ที่สูงกว่าผู้บริโภคกลุ่มอื่น ทั้งนี้ เพื่อรักษาฐานผู้บริโภค บริษัทผู้ให้บริการด้านสื่อและความบันเทิงจึงได้คิดค้นการให้บริการใหม่ๆ ตัวอย่างเช่น Netflix, Amazon Prime และ Disney+ ที่พัฒนา Over-the-top platform สำหรับให้บริการเนื้อหาแบบ Direct-to-Consumer หรือ D2C streaming ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ด้วยความหลากหลายของเนื้อหาประกอบกับความสะดวกสบายในการใช้งาน ส่งผลให้แพลตฟอร์มดังกล่าวมียอดการรับสมาชิก (Subscription) ที่ขยายตัวกว่าร้อยละ 60 ในปี 2020 นอกจากนี้ ยังมี Facebook และ Amazon บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่ได้หันมาลงทุนในธุรกิจ E-Sport ที่กำลังเติบโตอย่างมากและคาดว่าจะมีผู้ชมรวมถึง 532 ล้านคนภายในปี 2022 เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากถึงร้อยละ 69.5 ของประชากรทั้งหมดซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 59.5 ตัวเลขดังกล่าวนั้นไม่เพียงแต่แสดงถึงความนิยมในการบริโภคสื่อและความบันเทิงออนไลน์ของประชากรไทยได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังนับเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ อุตสาหกรรมสื่อและความบันเทิงของประเทศไทยมีการเติบโตสวนกระแสท่ามกลางการระบาดของไวรัส COVID-19 ทั้งนี้ภาครัฐเองก็ได้มีความพยายามในการส่งเสริมอุตสาหกรรมดังกล่าวอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังสะท้อนจากการผลักดันธุรกิจ startup ในกลุ่มธุรกิจดนตรี (Music), ศิลปะ (Arts) และ นันทนาการ (Recreation) หรือ MAR Tech ผ่านทางการเป็นตัวกลางระหว่าง Tech Startup และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสื่อและความบันเทิง อันจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดังกล่าว ในขณะเดียวกัน ก็มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้นไปพร้อมๆกัน

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังพัฒนาไปตามแนวนโยบาย Thailand 4.0 คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า การผลักดันอุตสาหกรรมสื่อและความบันเทิงให้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาปรับใช้ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปสู่การเป็น “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” (Value-Based Economy) ที่จะช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวนั่นเอง