Articles

COMPUTER VISION

26/08/2024

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

การวิเคราะห์ภาพด้วยคอมพิวเตอร์ (Computer Vision) เป็นสาขาหนึ่งของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ที่มุ่งพัฒนาให้เครื่องจักรกลหรือคอมพิวเตอร์สามารถมองเห็น จดจำ วิเคราะห์ และแยกแยะภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวต่างๆ ได้อย่างชาญฉลาด ถูกต้อง และแม่นยำจนกระทั่งสามารถตอบสนองต่อข้อมูลภาพที่มองเห็นได้

Computer Vision เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1950 โดยเทคโนโลยียุคแรกนั้นมีข้อจำกัดอย่างมากทั้งข้อมูลภาพที่มีจำนวนน้อย หรืออัลกอริทึมและเทคโนโลยีการประมวลผลประสิทธิภาพต่ำจึงทำให้ระบบทำงานได้ช้าและไม่แม่นยำ อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษที่ 1970 เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเริ่มพัฒนารวมถึงได้มีการคิดค้นอัลกอริทึมแบบใหม่ๆ จึงทำให้ Computer Vision สามารถวิเคราะห์และเขียนคำอธิบายภาพวาดได้เป็นครั้งแรก ซึ่งศาสตร์ของ Computer Vision ก็มีวิวัฒนาการเรื่อยมาจนช่วงทศวรรษ 1990 การใช้งานอินเตอร์เน็ตที่แพร่หลายได้ส่งผลดีต่อ Computer Vision อย่างมาก รูปภาพบนโลกออนไลน์กลายเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีสำหรับการวิเคราะห์และทำให้ Computer Vision โดยเฉพาะโปรแกรมวิเคราะห์ใบหน้าบุคคล (Facial Recognition) ได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องทำให้ความแม่นยำและความรวดเร็วในการตอบสนองของ Computer Vision พัฒนาอย่างต่อเนื่อง การใช้งานสมาร์ทโฟนและกล้อง CCTV ที่พบเห็นได้ทั่วไป หรืออุปกรณ์ อาทิ กล้อง เลนส์ที่ราคาลดต่ำลงสวนทางกับคุณภาพและความคมชัดที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนระบบประมวลผลและซอฟต์แวร์ที่สามารถรองรับการทำงานของอัลกอริทึมที่ซับซ้อนจึงทำให้ปัจจุบันธุรกิจต่างๆ มีการนำเทคโนโลยี Computer Vision มาใช้งานอย่างกว้างขวาง อาทิ (1) ระบบวิเคราะห์ใบหน้าเพื่อปลดล็อกสมาร์ทโฟน หรือใช้ตรวจสอบอัตลักษณ์บุคคลสำหรับการทำธุรกรรมทางการเงิน (2) ระบบรักษาความปลอดภัยสำหรับการตรวจจับบุคคลน่าสงสัยหรือเหตุการณ์ผิดปกติ (3) ระบบการวิเคราะห์ภาพทางการแพทย์ เช่น การตรวจสอบภาพถ่ายทางรังสี หุ่นยนต์ผ่าตัด (4) ระบบชั้นวางสินค้าอัตโนมัติและ Self-Checkout (5) อื่นๆ เช่น ระบบตรวจสอบคุณภาพสินค้า ระบบวิเคราะห์และตรวจจับศัตรูพืช ระบบแปลงเอกสารและรูปภาพ (Optical Character Recognition) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเจาะลึกเข้าไปในรายละเอียดจะพบว่า เทรนด์การใช้งานของเทคโนโลยีในปัจจุบันนั้นไม่ได้เป็นการใช้งานเทคโนโลยีประเภทใดประเภทหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการผสมผสานหลายๆ เทคโนโลยีเข้าไว้ด้วยกัน การพัฒนา Large Vision Model (LVM) หรือโมเดลการมองเห็นขนาดใหญ่ซึ่งเป็น AI ที่มีความสามารถจดจำ เข้าใจ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงภาพและวีดีโอ รวมถึงสามารถตอบสนองต่อข้อมูลภาพที่มองเห็นได้อย่างรวดเร็ว หรือเทคโนโลยีความจริงเสมือน (Augmented Reality) ที่เป็นการผสมผสานระหว่าง Computer Vision ร่วมกับข้อมูลเชิงพื้นที่ (Mapping) โปรแกรมการบอกตำแหน่ง (Localization) และเทคโนโลยีระบบติดตามความลึกของสภาพแวดล้อม (Depth Tracking) หรือรถยนต์และอากาศยานไร้คนขับก็เป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยี Navigation System, Computer Vision, Deep Learning และ Sensor & Robotics เช่น ระบบควบคุมเครื่องจักรกลต่างๆ  หรือการรวมเทคโนโลยี Computer Vision เข้ากับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อสร้างระบบการผลิตที่มีความแม่นยำ สม่ำเสมอ รวดเร็ว เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยเทคโนโลยี Computer Vision ก็ได้รับความนิยมอย่างมาก หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็นำเทคโนโลยีนี้มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และความสะดวกสบาย ตัวอย่างเช่น ภาครัฐมีการนำ Computer Vision มาใช้ในการวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศเพื่อตรวจจับการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ หรือ WHA Group ริเริ่มนำ Drone และ Computer Vision มาใช้ในการตรวจสอบหลังคาของคลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้าและโรงงานให้เช่า เป็นต้น ซึ่งในอนาคตเทคโนโลยี Computer Vision ก็จะมีการพัฒนาและเติบโตเช่นเดียวกับ Exponential Technology อื่นๆ และส่งผลทำให้ต้นทุนของทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องลดต่ำลงจนสามารถเข้าถึงได้ง่าย และแพร่หลายมากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม