Articles

TECH-ENABLED VOTING

18/11/2024

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 47 ของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ล่าสุดทราบผลอย่างไม่เป็นทางการแล้วว่า คุณโดนัลด์ ทรัมป์จากพรรครีพับลิกัน เป็นฝ่ายที่ได้รับชัยชนะ ซึ่งจุดยืน “American First” และนโยบายของรัฐบาลใหม่สหรัฐฯ ที่จะทยอยประกาศออกมาหลังจากนี้ก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศและทำให้พวกเราต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้ยังมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจของการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการจัดการเลือกตั้ง (1) ระบบการลงทะเบียน ฐานข้อมูลผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และ Electronic Poll Books พระราชบัญญัติ Help America Vote Act (HAVA) กำหนดให้แต่ละรัฐต้องจัดทำระบบการลงทะเบียนและฐานข้อมูลผู้มีสิทธิเลือกตั้งแบบรวมศูนย์ รวมถึง HAVA ยังกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยทั้งทางกายภาพ การทดสอบระบบ การเข้ารหัสและการตรวจสอบหลายชั้น (Multi-factor authentication) เพื่อป้องกันการเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต นอกจากนั้นการพัฒนาระบบ E-Poll Books เพื่อทดแทนสมุดทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งแบบกระดาษก็ช่วยให้เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลผู้มีสิทธิเลือกตั้งล่าสุดแบบเรียลไทม์

(2) ระบบการลงคะแนนออนไลน์ (e-Voting) ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต แม้ว่าปัจจุบันระบบการลงคะแนนออนไลน์จะยังไม่ได้รับการรับรองสำหรับการเลือกตั้งระดับชาติของสหรัฐฯ แต่ในอนาคตระบบที่สามารถรองรับการใช้งานของประชาชนทั่วไป คนทำงานระยะไกล (remote worker) ผู้ที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ และผู้ทุพพลภาพจะช่วยเพิ่มอัตราการเข้าถึงและความเท่าเทียมในการใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน (3) เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) การทดลองนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้ในบางรัฐ เช่น West Virginia เพื่อเพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการนับคะแนนโดยคะแนนเสียงที่บันทึกด้วยบล็อกเชนจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือปลอมแปลงได้จึงทำให้ผลการลงคะแนนมีความถูกต้องและน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น

(4) เทคโนโลยีไบโอเมทริกซ์ (Biometrics) การระบุตัวตนและตรวจพิสูจน์ผู้ใช้ผ่านเทคนิคการแปรค่าเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละบุคคล (Personal identity) เช่น ลายนิ้วมือหรือการจดจำใบหน้า ฯลฯ ช่วยเพิ่มความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของกระบวนการลงคะแนนเสียงโดยเฉพาะขั้นตอนการตรวจสอบตัวตนของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (5) การติดตั้งกล้อง CCTV และระบบ IoT ช่วยลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เนื่องจากสามารถตรวจสอบพื้นที่เลือกตั้งได้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำอยู่ในทุกจุด รวมถึงสามารถบันทึกหลักฐานและตรวจสอบรายละเอียดเหตุการณ์ย้อนหลัง

(6) ปัญญาประดิษฐ์และการวิเคราะห์ข้อมูล เช่น การใช้เทคโนโลยี AI เพื่อตรวจสอบข้อมูลที่เผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย อาทิ ข่าวปลอม (fake news) หรือสื่อดิจิทัลปลอมแปลง (deepfakes) หรือการนำ AI มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลการลงคะแนนเพื่อระบุรูปแบบหรือความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการใช้ Computer Vision ตรวจจับพฤติกรรมผิดปกติในสถานที่ลงคะแนนเพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการสอบสวนได้ทันท่วงที

เทคโนโลยีสมัยใหม่เหล่านี้นอกจากจะมีศักยภาพในการปรับปรุงประสิทธิภาพ เพิ่มการเข้าถึงและการมีส่วนร่วม ช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดการเลือกตั้งและทำให้ได้รับผลการเลือกตั้งเร็วขึ้นแล้ว แต่ยังช่วยป้องกันการฉ้อโกงและเสริมสร้างศรัทธาของประชาชนต่อกระบวนการเลือกตั้งอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการเลือกตั้งอาจนำมาซึ่งความท้าทายหลายประการเช่นกัน อาทิ การโจมตีทางไซเบอร์ การโจรกรรมข้อมูล การละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูล ตลอดจนเทคโนโลยีอาจถูกนำไปใช้เพื่อสร้างข้อมูลเท็จ ชักจูงและบิดเบือนข่าวสาร ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงต้องวางแผนและตัดสินใจอย่างรอบคอบเพื่อก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดอันจะนำไปสู่ความเชื่อมั่นและความไว้วางใจของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย