Articles

EEC & COMPETITIVENESS

06/06/2018

เมื่อโลกเปลี่ยนไป บริบทของการแข่งขันในยุคปัจจุบันจึงเกี่ยวโยงทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมที่มีความซับซ้อนและเชื่อมโยงระหว่างกันจนไร้ขอบเขต และขับเคลื่อนอยู่บนกระแสการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรง เนื่องจากพลังของเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดในโลกยุคดิจิทัล การปฏิวัติอุตสาหกรรมกลายเป็นเรื่องล้าสมัยและถูกแทนที่ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยี หรือ Disruption ซึ่งปัจจุบันมีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลก (Disruptive Technology) เช่น การเกิดขึ้นของ Airbnb หรือ GrabTaxi นับเป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงที่เราเห็นกันจนชินตาในภาคบริการ หรือหากจะยกตัวอย่างจากต่างประเทศที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมพลังงานที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ จนทำให้แนวคิดของ Prosumer ที่มีความหมายว่า “การผลิตโดยผู้บริโภค” มีความชัดเจนและเป็นจริงมากยิ่งขึ้น ดังที่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าในหลายประเทศมีการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองจากแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งอยู่บนหลังคาบ้านควบคู่ไปกับการใช้ระบบกักเก็บพลังงาน เช่น แบตเตอรี่ และหากมีพลังงานไฟฟ้าเหลือใช้ก็สามารถส่งผ่านระบบสายส่งเพื่อจำหน่ายให้กับบ้านใกล้เรือนเคียงได้โดยการนำเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาช่วย ทำให้บทบาทของความเป็นผู้บริโภคกับผู้ผลิตอยู่ในคนคนเดียวกันไม่มีการแบ่งแยกอีกต่อไป

กระแสการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นสิ่งเกิดขึ้นทั่วโลกโดยที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ พวกเราทุกคนจึงจำเป็นต้องเปิดใจเพื่อให้เข้าใจ และมองเห็นถึงบริบททั้งด้านที่เป็นโอกาสและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ประเทศไทยเองก็กำลังอยู่ในช่วงรอยต่อที่สำคัญ ถ้าเราไม่สามารถปรับตัวได้ทันตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ประเทศไทยก็จะล้าหลังไปอีกนาน การที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยหากเราไม่สามารถ "กระตุกประเทศให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเหมือนปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน (Nuclear Fission)" ซึ่งทางรัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและมีการวางแผนกลยุทธ์ระยะยาว ผ่าน "ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี พ.ศ. 2561 – 2580” และโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ในฐานะโครงการต้นแบบที่มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศตามแนวนโยบายประเทศไทย 4.0 โดยมุ่งเน้นพัฒนา 5 มิติที่สำคัญ อันได้แก่ (1) มิติด้านอุตสาหกรรมเป้าหมายที่กำหนดอย่างชัดเจน (2) มิติด้านโครงสร้างพื้นฐาน (3) มิติด้านเทคโนโลยี (4) มิติด้านกระบวนการทำธุรกิจ และ (5) มิติด้านทรัพยากรมนุษย์ โดยโครงการ EEC จะเป็นแบบจำลองของโมเดลการพัฒนาประเทศที่สามารถสร้างเทคโนโลยี พัฒนาบุคลากร ปฏิรูประเบียบและการบริการของภาครัฐ และคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในคราวเดียวกัน

ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา หากหลาย ๆ ท่านได้มีโอกาสติดตามข่าวผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ประจำปี 2561โดย IMD World Competitiveness Center ที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับลดลงทั้งด้านคะแนนและอันดับ โดยมีคะแนนรวมในปีนี้เท่ากับ 79.450 เปรียบเทียบกับ 80.095 ในป 2560 และมีอันดับลดลงจากอันดับที่ 27 ในปี 2560 เป็นอันดับที่ 30 ในปี 2561 ซึ่งอาจจะทำให้หลาย ๆ ท่านเกิดคำถามหรือมีความกังวลใจเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของประเทศ

อาทิตย์หน้าเราคงจะได้มีโอกาสมาคุยกันต่อว่า โครงการ EEC จะมีความเกี่ยวข้องและมีส่วนช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยเราอย่างไรกันบ้าง

บทความนี้ตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับ วันพุธที่ 6 มิถุนายน 2561 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10849 คอลัมน์ Smart EEC: EEC & Competitiveness