Articles
EEC & MEDICAL TOURISM - MEDICAL HUB
22/08/2018คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
สถาบัน Global Wellness Institute ประมาณการไว้ว่า ตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพทั่วโลกมีขนาดถึง 563 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2560 และคาดว่าจะมีการเติบโตประมาณร้อยละ 10 ต่อปีจนถึงปี 2565 ประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านการบริการสุขภาพที่เกื้อหนุนส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด จากการศึกษาผลการจัดอันดับ Medical Tourism Index ประจำปี 2017 โดย The International Healthcare Research Center ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 6 ของโลกและมีนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์มากที่สุดถึงประมาณร้อยละ 38 ของภูมิภาคเอเชียทั้งหมด เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อมในหลายๆ ด้าน ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสามารถและมีความเชี่ยวชาญโรคเฉพาะทาง ตลอดจนค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับบริการที่มีคุณภาพในมาตรฐานเดียวกันกับประเทศที่พัฒนาแล้ว
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นหนึ่งใน The First S-Curve ของอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมโดยรัฐบาลได้กำหนดกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การสนับสนุนธุรกิจบริการด้านการส่งเสริมสุขภาพ สถานเสริมความงาม และศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ถูกกำหนดให้เป็นอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต หรือ The New S-Curve ที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายส่งเสริมให้เกิดการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม อาทิ การผลิตยาและชีวเวชภัณฑ์ การปลูกถ่ายอวัยวะ อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ และระบบการรักษาพยาบาลทางไกล (Telemedicine)
ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และธุรกิจการรักษาพยาบาลที่ขึ้นชื่อโดยเฉพาะด้านสมุนไพรไทย สปา และการมีวัฒนธรรมที่สวยงามอันเป็นสิ่งดึงดูดผู้มารับบริการทางการแพทย์ การนำข้อได้เปรียบดังกล่าวมาต่อยอดนับว่าเป็นแนวทางการพัฒนาที่ถูกต้อง ซึ่งโครงการ EEC จะมีบทบาทในการผลักดันธุรกิจการแพทย์ของไทยให้ก้าวสู่การเป็น Medical Hub ของภูมิภาคโดยการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์สมัยใหม่และระบบการรักษาพยาบาลทางไกลที่สามารถต่อยอดจากพื้นฐานด้านอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม ตลอดจนมาตรการสนับสนุนการลงทุนด้านต่างๆ ในพื้นที่ EEC จะช่วยดึงดูดนักลงทุนที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่จากต่างประเทศให้เข้ามาร่วมมือกับผู้ประกอบการชาวไทยในการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนและชีววัตถุของไทยให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
รัฐบาลจึงควรส่งเสริมการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มอุตสาหกรรม (Cluster) สร้างความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และขนาดเล็กเพื่อยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการต่างๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยหาพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี พร้อมทั้งกำหนดมาตรการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ เช่น การวิจัยด้านสเต็มเซลล์ การทำอวัยวะสำรอง และการฟื้นฟูสภาวะเสื่อม เป็นต้น ในอดีตผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยเติบโตอย่างไร้ทิศทาง หากรัฐบาลเข้ามาส่งเสริมโดยมีเป้าหมายและมาตรการสำหรับแต่ละผลิตภัณฑ์และบริการที่ชัดเจนก็จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของภูมิภาคที่มีความครบวงจร
การต่อยอดการผลิตสินค้าและบริการด้านสุขภาพที่ประเทศไทยมีความเป็นเลิศ โดดเด่น และมีเอกลักษณ์ตามภูมิปัญญาไทยให้มีคุณภาพและมาตรฐานระดับโลกด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์การการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างเต็มรูปแบบพร้อมทั้งพัฒนาประเทศให้กลายเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ครบวงจรที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยมีความโดดเด่นและเป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้นในระดับสากล