Articles

SHAPING THE INDUSTRIAL REVOLUTION

26/06/2019

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

“เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างคนกับเทคโนโลยีเปลี่ยนไป เราจึงต้องคิดใหม่เพื่อควบคุมอนาคต” คำนำของหนังสือขายดี Shaping the Future of the Fourth Industrial Revolution โดย Prof. Klaus Schwab ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร World Economic Forum ร่วมกับ Nicholas Davis หัวหน้าฝ่ายสังคมและนวัตกรรมที่ได้เน้นถึงความจำเป็นของการปรับตัวเพื่อเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่จะส่งผลกระทบเป็นทวีคูณกว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใดๆ และทำให้ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากความสามารถในการปรับตัวเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีของประเทศต่างๆ เพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีก

เนื้อหาของหนังสือนั้นเกิดจากความร่วมมือของสมาชิกเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญของ WEF ซึ่งผู้แต่งได้เจาะลึกไปยัง 12 เทคโนโลยีแห่งอนาคตที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนทำให้เกิดสินค้าและบริการประเภทใหม่ๆ รวมถึงนวัตกรรมจากการเปลี่ยนห่วงโซ่คุณค่าและภูมิทัศน์การแข่งขันของอุตสาหกรรมต่างๆ ไปอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีประมวลผลใหม่ เช่น คอมพิวเตอร์ควอนตัม (Quantum) เทคโนโลยีบัญชีธุรกรรมแบบกระจาย (Blockchain) อินเตอร์เน็ตของทุกสิ่ง (Internet of Everything) ปัญญาประดิษฐ์และวิทยาการหุ่นยนต์ (Artificial Intelligence and Robotics) วัสดุล้ำสมัย (Advanced Materials) การผลิตแบบเติมเนื้อวัสดุและการพิมพ์หลายมิติ (Additive Manufacturing and 3D Printing) เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnologies) ประสาทเทคโนโลยี (Neuroethologies) ความจริงเสริมและความจริงเสมือน (Augmented and Virtual Reality) การค้นหา กักเก็บ และจัดส่งพลังงาน (Energy Capture, Storage and Transmission) วิศวกรรมดาวเคราะห์ (Geoengineering) เช่น การบริหารจัดการระบบธรรมชาติของโลก เช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เทคโนโลยีอวกาศ (Space Technologies)

ซึ่งแนวคิดและข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฎอยู่ในหนังสือนั้นสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับบริบทของประเทศไทยได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะในช่วงรอยต่อของการปฏิรูปกลไกทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญของประเทศ การเรียนรู้และเข้าใจถึงพลังของ Exponential Technologies เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งในยุคที่การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม 4.0 ส่งผลให้ภูมิทัศน์การแข่งขันในโลกยุคปัจจุบันถูก disrupt จนแตกต่างไปจากในอดีต ประเทศไทยจึงต้องปรับตัวเกิดเป็นโมเดลการพัฒนาประเทศตามแนวนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” ที่มุ่งเน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านเศรษฐกิจสร้างมูลค่า (Value-Base Economy) ที่เน้นการใช้องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์แทนการเน้นทรัพยากรพื้นฐานที่นับวันจะหมดลง

โครงการ EEC จึงเกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนและยกระดับขีดความสามารถในการผลิตและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแห่งอนาคตต่างๆ เพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีฐานการผลิตที่แข็งแกร่งเดิม อาทิเช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ การท่องเที่ยว เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อาหาร ฯลฯ รวมถึงพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ที่ประเทศไทยมีศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก อาทิเช่น การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ การแพทย์ครบวงจร เป็นต้น ผ่านมาตรการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุนและบริษัทชั้นนำที่เป็นเจ้าของนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้เข้ามาลงทุน สร้างเทคโนโลยีและถ่ายทอด Know-how รวมถึงทักษะด้านเทคโนโลยีต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการและบุคลากรชาวไทยอันจะทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมรับกับการแข่งขันที่เกิดขึ้นภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

ขณะนี้ประเทศไทยก็ใกล้จะได้รัฐบาลชุดใหม่แล้วจึงถึงเวลาที่พวกเราทุกฝ่ายจะต้องร่วมแรงร่วมใจกันสนับสนุนและสานต่อโครงการ EEC ให้ประสบผลสำเร็จ ซึ่ง Prof. Klaus เองก็ได้เน้นถึงความสำคัญของการตกลงและปฏิบัติตามข้อตกลงของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ เพื่อสร้างความไว้วางใจระหว่างภาครัฐ เอกชน และสังคมเพื่อให้การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นการส่งมอบคุณค่าและสร้างสานอนาคตอันพึงปรารถนาแก่พวกเราทุกคนได้อย่างแท้จริงนั่นเอง