Articles
Skill Disruption
25/01/2023คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสมาคุยกันเกี่ยวกับหน่วยงาน EEC HDC ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรให้สามารถรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC ไปตามแนวทาง Demand-driven สำหรับอาทิตย์นี้เราจะมาคุยกันต่อถึงทักษะ (Skills) ที่มีความจำเป็น รวมถึงเทรนด์การทำงานในปี 2023 นี้ว่ามีอะไรบ้าง
ในปี 2022 ทั่วโลกต่างได้เห็นการออกมาประกาศลดพนักงานครั้งใหญ่ หรือ Massive Layoff ที่บริษัทชั้นนำระดับโลกหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทด้านเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ เช่น Amazon, Meta, Twitter และ Lyft เป็นต้น โดยหนึ่งในเหตุผลของการเลิกจ้างนี้ ได้แก่ การขาดทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคตของพนักงาน ซึ่ง เหตุการณ์ดังกล่าวเปรียบเสมือนสิ่งตอกย้ำถึงความสำคัญของการไม่หยุดพัฒนาและปรับตัวเพื่อเพิ่มทักษะความรู้ความชำนาญในการทำงานของพนักงานอยู่เสมอนั่นเอง
ทั้งนี้ ผู้เขียนมีโอกาสศึกษา รายงาน How Skills are Disrupting Work ซึ่งเป็นรายงานการวิจัยร่วมระหว่างศูนย์วิจัย The Burning Glass Institute กับองค์กร Business-Higher Education Forum และ Wiley หนึ่งในสำนักพิมพ์ด้านการศึกษาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ที่ได้ถูกเปิดเผยโดยองค์กร World Economic Forum (WEF) ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งรายงานฉบับนี้ได้พูดถึง ทักษะที่จำเป็นและกำลังเป็นที่ต้องการมากที่สุดในยุคปัจจุบัน 4 ทักษะ ได้แก่
(1) Artificial Intelligence (AI) และ Machine Learning (ML) : หลายองค์กรมีการเก็บและนำข้อมูลมาใช้กันอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้นทำให้ทักษะด้าน AL/ ML อาทิเช่น Algorithms, Data Science, MATLAB และ Programing Language ไม่ว่าจะเป็น Python, R, C++ หรือ JavaScript มีการเติบโตขึ้นกว่า 3.7 เท่าในช่วง 5 ที่ผ่านมา (2) Cloud Computing : ในขณะที่องค์กรหันมาเก็บข้อมูลไว้ในระบบ Cloud เพื่อเพิ่มมาตรฐานด้านความปลอดภัย ทำให้แรงงานที่มีความเชี่ยวชาญและทักษะที่เกี่ยวข้องในการใช้ Cloud อย่าง Big Data, Open-source Software และ Splunk กลายมาเป็นทักษะที่เป็นที่ต้องการในวงกว้าง โดยมีความต้องการจากอุตสาหกรรมที่หลากหลายมากกว่าทักษะด้าน AI/ ML ถึง 40% (3) Product Management หรือทักษะด้านการคิด ออกแบบ และการจัดการผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมถึงการกำหนดจุดเด่น การใช้งาน และเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับทักษะอื่นๆ จะพบว่าทักษะนี้มีความต้องการจากอุตสาหกรรมที่หลายหลายมากที่สุดและในช่วง 5 ปีนี้ มีความต้องการจากภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวกว่า 72% (4) Social Media ทักษะการทำการตลาดบนโลกออนไลน์ถือเป็นอีกหนึ่งทักษะที่กำลังเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมาก ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าหรือกลุ่มผู้ใช้งานเป้าหมายสามารถรู้จักและเข้าถึงผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสในการขายและรักษาฐานลูกค้าไปพร้อมๆกัน
อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่ทักษะจำเป็นต่อการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป ในขณะเดียวกันรูปแบบของการทำงานและเทรนด์การพัฒนาบุคลากรก็ได้แตกต่างไปจากเดิมด้วยเช่นกัน ผู้เขียนมักจะเน้นย้ำอยู่เสมอว่าบุคลากรที่จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จในยุคปัจจุบันนั้นจำเป็นต้องมีทักษะและความชำนาญที่หลากหลาย หรือ เป็นผู้รู้รอบด้าน (Generalist) ด้วยเหตุนี้ องค์กรคงไม่อาจมุ่งพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะจำเป็น ความรู้ ความชำนาญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล แต่อีกสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งพัฒนาไปควบคู่กันคงหนีไม่พ้นการปลูกฝัง/ สร้างทัศนคติให้บุคลากรเปิดรับและพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ (Life-long Learning) จึงจะช่วยให้องค์กรสามารถสร้างบุคลากรคุณภาพที่จะเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนองค์กรแห่งอนาคตได้นั่นเอง