Articles
CARBON CAPTURE TECHNOLOGY
02/10/2023คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ปัจจุบันทั่วโลกต่างมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน การนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในกระบวนการผลิต แต่การลดการปล่อยคาร์บอนอย่างเดียวนั้นก็ไม่เพียงพอที่จะลดปริมาณคาร์บอนให้เหลือศูนย์ได้ จึงต้องอาศัยการเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนเข้ามาช่วยควบคู่กัน ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่า/การฟื้นฟูป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่การดูดซับหรือการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้
โดยเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage : CCUS) ถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่กำลังถูกหยิบยกมาพูดถึงอย่างกว้างขวางว่ามีศักยภาพในการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถดักจับ CO2 ได้ตั้งแต่แหล่งกำเนิดเพื่อป้องกันการปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศและนำมากักเก็บใต้พื้นดิน นอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้ในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการขุดเจาะน้ำมัน (Enhanced Oil Recovery: EOR ) หรือ การนำมาใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตวัสดุก่อสร้าง หรือ สารประกอบเคมีภัณฑ์ ฯลฯ ได้อีกด้วย
แม้ว่า CCUS จะเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการช่วยให้โลกมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในอนาคต แต่ก็ยังมีข้อจำกัดบางประการโดยเฉพาะด้านต้นทุนสำหรับการนำไปใช้ในระดับอุตสาหกรรม เทคโนโลยีดังกล่าวจึงยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม หลายบริษัทในอุตสาหกรรมต่างก็กำลังเร่งพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เช่น Climeworks จากสวิสเซอร์แลนด์ที่พัฒนาเทคโนโลยีการดักจับโดยตรงจากอากาศ (Direct Air Capture) เพื่อตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของภาคอุตสาหกรรม หรือ Aker Solutions จากนอร์เวย์ที่เป็นผู้ให้บริการแบบครบวงจรตั้งแต่การดักจับ การขนส่ง การจัดเก็บในที่ปลอดภัย เป็นต้น
ซึ่งการจะผลักดันให้เทคโนโลยี CCUS เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายนั้นต้องอาศัยการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะนโยบายของภาครัฐที่ถือเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนด้วยการสนับสนุนงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงการออกมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการ โดยจากการศึกษากรณีตัวอย่างพบว่า ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีและการนำมาใช้อย่างจริงจัง ตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรปที่นำเสนอกฎหมาย Net-Zero Industry Act เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนโดยมีแผนการขับเคลื่อนผ่านการกำหนดเงื่อนไขที่เอื้อต่อการลงทุน การลดความซับซ้อนในการจัดตั้งโครงการและการกำกับดูแล รวมถึงเพิ่มการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิก ในขณะที่ กระทรวงพลังงานของสหรัฐอเมริกาเองก็มีการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี CCUS ภายใต้กลุ่มโครงการวิจัยและพัฒนาแหล่งเชื้อเพลิงพลังงานจากฟอสซิล (Fossil Energy Research and Development : FER&D) โดยมีการวางแผนดำเนินโครงการวิจัยพัฒนากระบวนการใช้เทคโนโลยีที่จะนำ CO2 ที่ดักจับได้ไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอื่น
สำหรับประเทศไทย ภาครัฐเองก็มีความพยายามที่จะสนับสนุนการพัฒนาและการลงทุนในเทคโนโลยีดังกล่าวผ่านแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศซึ่งครอบคลุมทั้งในเรื่องของการจัดทำระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการคัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการพิจารณาถึงมูลค่าเพิ่มของคาร์บอนเครดิตและสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสร้างให้เกิดแรงจูงใจในการลงทุน ด้วยการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมเช่นนี้นับเป็นสัญญาณที่ดีที่จะทำให้เกิดการนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลายเพื่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างโลกที่ยั่งยืนสำหรับคนรุ่นต่อๆ ไปนั่นเอง