Articles
21ST CENTURY EDUCATION
16/12/2024คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
โลกของเรากำลังเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีสมัยใหม่เปลี่ยนวิถีชีวิตและวิธีการทำงานของพวกเราทุกคน การเข้าถึงข้อมูลอย่างอิสระสร้างสังคมที่หลากหลายและก่อให้เกิดทั้งผลดีและผลเสีย การศึกษาจึงมีความสำคัญยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 มีความยืดหยุ่น เข้าถึงได้ง่าย สะดวก สามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคลของผู้เรียน รวมถึงยังช่วยยกระดับประสบการณ์การเรียนรู้ให้สมจริง สร้างแรงจูงใจ และเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการเรียนการสอนให้มากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเทคโนโลยีการศึกษายุคใหม่ ได้แก่ (1) การเรียนออนไลน์ที่ผู้เรียนสามารถเรียนจากแพลตฟอร์มหรือ Massive Open Online Courses (MOOCs) ต่างๆ อาทิ Coursera, edX (2) การเรียนรู้เฉพาะบุคคล เช่น การนำ AI และการวิเคราะห์ข้อมูลมาใช้ปรับเนื้อหาและรูปแบบการเรียนการสอนเพื่อให้เหมาะสมกับผู้เรียน (3) การจำลองสถานการณ์เหมือนจริงผ่านเทคโนโลยี AR/ VR/ MR (4) เกมเพื่อการศึกษา เช่น เกมฝึกทักษะหรือการใช้เกมเพื่อดึงดูดความสนใจและช่วยให้ผู้เรียนจดจำเนื้อหาได้ดีขึ้น (5) การสร้างชุมชนผ่าน Social Media เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ แบ่งปันข้อมูล เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทักษะที่เคยใช้ได้ในอดีตอาจไม่เพียงพอสำหรับการทำงานในปัจจุบัน รายงาน The Future of Jobs Report 2023 ของ World Economic Forum เปิดเผยว่า ร้อยละ 44 ของทักษะหลัก (Core skills) ที่บุคคลใช้ในการทำงานทุกวันนี้จะถูก disrupt ในอีก 5 ปีข้างหน้าโดยทักษะที่ผลการวิจัยรายงานว่ามีความต้องการเพิ่มขึ้นมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ การคิดวิเคราะห์ (Analytical) ความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) และความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยี (Technological Literacy) การ Upskill และ Reskill จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการต่อยอดทักษะเดิมและเรียนรู้ทักษะใหม่เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาของ AI ที่จะทำให้กระบวนการทำงานในอนาคตเปลี่ยนไป ซึ่ง AI ก็จะเข้ามามีบทบาททั้งการแทนที่ (Automate) และการเสริมศักยภาพ (Augment) กระบวนการทำงานของมนุษย์ในศตวรรษนี้
นอกจากการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในศตวรรษที่ 21 แล้ว โลกทุกวันนี้เชื่อมต่อถึงกันมากขึ้น ปัญหาต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งและสงคราม ความยากจน โรคระบาด ฯลฯ ล้วนแต่เป็นปัญหาที่ซับซ้อนและท้าทายทำให้ต้องการฉันทามติระดับโลก (Global Consensus) เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน การศึกษาจึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมทัศนคติและกรอบความคิดการเป็นพลเมืองโลก (Global Citizen) ที่หมายถึงบุคคลที่มีความเข้าใจ ตระหนักรู้ และรับผิดชอบต่อประเด็นต่างๆ ในระดับโลก เช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน วัฒนธรรม สันติภาพ ความยั่งยืน ตลอดจนความสามารถในการรับรู้และใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณ สามารถคิดวิเคราะห์ แสดงความคิดเห็น และสื่อสารได้อย่างสร้างสรรค์
การปรับปรุงระบบการศึกษาและการพัฒนาทักษะของประชากรไทยให้พร้อมสำหรับศตวรรษที่ 21 จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยภาครัฐสามารถทำหน้าที่วางนโยบาย แผนงาน/ roadmap และให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ ขณะที่สถาบันการศึกษาสามารถปรับหลักสูตรโดยมุ่งพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับยุคใหม่ รวมถึงจัดหลักสูตรการเรียนการสอนที่ส่งเสริมความรู้และทัศนคติการเป็นพลเมืองโลก หรือภาคเอกชนก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมผลักดันให้เกิดระบบการศึกษาแบบ Demand-Driven ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการลงมือปฏิบัติและนำไปประยุกต์ใช้จริง และสุดท้ายระดับปัจเจกบุคคลที่ตัวผู้เรียนหรือแรงงานเองก็จำเป็นต้องเปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ซึ่งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีก็ทำให้การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้โดยสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และน่าเพลิดเพลินมากยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาเช่นกัน